วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

การดูแลและกระตุ้นให้ความทรงจำ

          การดูแลและกระตุ้นให้ความทรงจำต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากข้อมูลต่างๆ ที่เข้าสู่สมองของลูกผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 นั่นคือ รับภาพผ่านดวงตา รับเสียงผ่านหู รับกลิ่นผ่านจมูก รับรสผ่านลิ้น รับความรู้สึกต่างๆ ผ่านผิวหนัง และมีระบบรับสัมผัสภายในร่างกายและความรู้สึกของลูกเอง ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปเก็บตามส่วนต่างๆ ในสมอง โดยลำดับขั้นการเก็บความทรงจำ จะเริ่มบริเวณสมองส่วนกลาง (hippocampus) ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายพนักงานจัดระบบสายโทรศัพท์ในองค์กรคือ ช่วงแรกๆ จะส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่ความทรงจำระยะสั้น เช่น เมื่อลูกมองเห็นภาพบางอย่างที่น่าสนใจ (ขอย้ำว่าต้องน่าสนใจ ไม่เช่นนั้น สมองจะไม่ไปจัดเก็บไว้เลย) ก็จะเก็บข้อมูลได้สัก 20 วินาที โดยเราจะมีระบบความจำระยะสั้น 2 แบบคือ การจดจำทันที กับ การจดจำเพื่อใช้งาน ยกตัวอย่าง เช่น เราจะพาลูกไปทานอาหารที่ร้านสักแห่ง ก็เปิดสมุดโทรศัพท์ เมื่อตาเรามองเห็นหมายเลข สมองจะจดจำหมายเลขไว้นานพอที่เราจะหมุนโทรศัพท์ไปได้ แต่ระหว่างที่เรากำลังหมุนโทรศัพท์เกิดมีใครชวนเราคุย นั่นคือขัดขวางกิจกรรมที่จะทำให้สมาธิเสียไปพัก เราจะลืมหมายเลขไป ต้องกลับมามองหาหมายเลขใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างนี้คือ ความทรงจำเพื่อใช้งานเป็นเวลาประมาณครึ่งนาทีเท่านั้น ส่วนความจำเพื่อใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้น ต้องการกระบวนการมากกว่าที่กล่าวมา โดยเฉพาะเด็กๆ จะต้องได้รับการฝึกฝนในการดึงข้อมูลที่มีในสมองออกมาใช้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะเป็นตัวตัดสินว่า ลูกของเรามีความสามารถในการคิด ตัดสินใจ และแสดงออกต่อสิ่งต่างๆ ได้ดีมากน้อยเพียงไร ก่อนที่ข้อมูลต่างๆ จะถูกจัดเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว สมองจะเก็บข้อมูลสำคัญๆ ไว้ที่ความทรงจำส่วนที่ต้องใช้งาน อาจเป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน ความทรงจำส่วนใช้งานนี้หากได้ใช้เป็นประจำ จนกระทั่งสมองตระหนักว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อชีวิต ข้อมูลส่วนนี้ก็จะถูกนำไปเก็บไว้ที่ความทรงจำระยะยาว แล้วข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้าสู่สมองจะถูกเชื่อมโยงกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ในสมองจึงเปรียบได้กับเครื่องประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่มากๆ สมมติว่า เด็กจะต้องทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่โรงเรียน เมื่อคุณครูให้โจทย์บนกระดาน เด็กเห็นภาพโจทย์ส่งไปที่สมอง สมองของเด็กจะค่อยๆ นำโจทย์นี้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ถ้าเด็กมีความจำเกี่ยวกับตัวเลขและวิธีทำอยู่แล้ว และสามารถดึงข้อมูลออกมาได้ทันทีก็จะทำโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากว่ามีปัญหา เช่น เป็นตัวเลขที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สมองเด็กจะพยายามเทียบเคียงดูว่า พอจะเข้ากับอะไรได้บ้าง ถ้าหากพอจะเทียบเคียงกับสิ่งที่มีอยู่ได้ ก็จะค่อย ๆ ลองทำดู ลองผิดลองถูกจนกระทั่งทำได้ หากเด็กมีความอดทน ก็จะลองพยายามทำเอง เพราะเป็นเรื่องท้าทาย (และขอย้ำตรงนี้ว่า ความสามารถของลูกในการใช้สมองแก้ไขปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มากหรือน้อย จะขึ้นกับพ่อแม่ที่จะฝึกให้เด็กมีความอดทนในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยไม่เข้าไปช่วยเหลือเร็วหรือมากเกินไป อย่าลืมว่า ถ้าเด็กได้รับการช่วยเหลือมาก ก็เท่ากับเราไปขัดขวางการทำงานของสมองเด็ก จะทำให้เด็กไม่อดทนที่จะแก้ปัญหา และความสามารถในการดึงข้อมูลมาใช้ก็จะมีน้อย โตขึ้นก็จะลำบากทีเดียว)   คุณพ่อคุณแม่จะต้องพยายามกระตุ้นและฝึกให้ลูกมีความอดทนที่จะดูแลแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการฝึกฝนให้ลูกสามารถแก้ปัญหายากๆ ขึ้นได้ในอนาคต ส่วนความทรงจำระยะยาวซึ่งจะเป็นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ๆ  ในการดำเนินชีวิตเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ต่อไป สำคัญมากก็คือ ความทรงจำที่จะอยู่นานไปจนถึงผู้ใหญ่ อยู่บนฐานของการที่วงจรในสมองของเราหนาแน่นเพราะใช้บ่อยๆ เพราะในแต่ละเรื่องราวที่เราเก็บไว้ในความทรงจำ จะประกอบด้วย

ข่ายใยของเซลล์ประสาทเชื่อมโยงทั่วไปหมด นั่นคือต้องมีความเชื่อมโยงกับเซลล์รับสัมผัสทุกส่วน ไปกับส่วนที่ทำหน้าที่จัดระบบความจำ และไปถึงสมองส่วนบน เปลือกสมอง และสมองส่วนหน้า เพื่อจะสามารถใช้สมองส่วนหน้าของเราพิจารณาใช้ข้อมูลเมื่อถึง
วาระที่จำเป็น เด็กเริ่มจัดระบบความทรงจำระยะยาวตั้งแต่อายุ 9 เดือน แต่เราจะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนประมาณ

อายุ 18 เดือน แต่โดยมาก    พ่อแม่มักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความทรงจำของลูกๆ ก่อนอายุนี้แล้ว เมื่อเข้าสู่วัยขวบครึ่ง เด็กจะมีความสามารถในการเข้าใจสัญลักษณ์ของสิ่งรอบตัวพอสมควร และความทรงจำนี้จะเพิ่มพูนมากขึ้นๆ เมื่อครบ 3 ขวบ    จะพัฒนาระบบความทรงจำระยะสั้น ในขอบเขตความสามารถด้านภาษาของเด็ก นั่นหมายความว่า   ถ้าลูกมีพัฒนาการภาษา คือ การเข้าใจ สื่อสารคำพูดต่างๆ ได้มาก ก็จะมีข้อมูลในความทรงจำมากเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น