ความทรงจำ
ความทรงจำเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการสติปัญญาของมนุษย์
และสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างแนบแน่น สติปัญญา หรือ ความสามารถในการ “เข้าใจ และคิด” อยู่บนฐานของข้อมูลที่มนุษย์บันทึกไว้ในสมองของเรา
หากมีมากก็จะเพิ่มพูนความสามารถในการคิดมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ความทรงจำของมนุษย์ มี 3
ระบบซึ่งเชื่อมโยงและเสริมซึ่งกันและกัน ดังนี้
1. ความทรงจำที่เกี่ยวเนื่องกับการรับสัมผัส
สิ่งเร้าทั้งปวงที่มาสัมผัสกับประสาทรับความรู้สึกทำให้เกิดความรู้สึก (sensation) เช่น เห็นเป็นภาพ ได้ยินเป็นเสียง รู้สึกเป็นกลิ่น ฯลฯ สมองจะดำเนินการตีความรู้สึกนี้ต่อไป เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่รู้สึกนี้คืออะไร ความจำการรู้สึกสัมผัส หมายถึงการคงอยู่ของความรู้สึกสัมผัส หลังจากที่การเสนอสิ่งเร้าสิ้นสุดลง เช่น การฉายภาพให้ดูแวบหนึ่ง ภาพที่ปรากฎให้เห็นจะยังคง “ติดตา” ต่อไปอีกหลายร้อยมิลลิวินาทีหลังจากการฉายภาพแวบนั้น ความคงอยู่ของรูปภาพแบบนี้ช่วยให้เห็นภาพที่ฉายซ้อนกันบนจอติดต่อกันเป็นภาพที่ต่อเนื่องกัน เช่นภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่ระหว่างการฉายภาพแต่ละภาพเครื่องฉายกระพริบดับ และจะสว่างอีกครั้งก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนภาพเสร็จแล้ว แต่เราก็หาได้สังเกตเห็นการกระพริบของแสงไม่ โดยจะเห็นเป็นภาพที่
ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
ความจำที่กล่าวมานี้ เรียกว่า ความจำภาพติดตา (iconic
Memory) ความรู้สึกได้ยินเสียงก็เช่นกัน
จะยังคงก้องอยู่ในหูแม้ว่าคลื่นเสียงได้หายไปแล้ว
การคงอยู่ของเสียงนี้ช่วยให้เราสามารถตีความเสียงที่ได้ยินได้ครบครัน
ตัวอย่างแสดงความจำเสียงก้องหูมีอยู่มากมาย เช่น
บางครั้งเราฟังใครพูดไม่ชัดเจนนักจึงถามไปว่า “พูดว่าอย่างไรนะ”
แต่ก่อนที่จะได้รับคำตอบ เราก็ชิงตอบก่อนว่า “อ๋อเข้าใจแล้ว”
ที่ว่าอ๋อเข้าใจแล้วนั้น
หมายถึงได้ตีความเสียงนั้นใหม่จนเกิดความเข้าใจแล้ว
และเสียงที่ตีความใหม่นั้นหาใช่เสียงจากผู้พูดไม่
หากแต่เป็นเสียงที่ก้องอยู่ในหูของตนต่างหาก เสียงนี้อยู่ในความจำที่เรียกว่า
ความจำเสียงก้องหู (Echoic Memory)
2.
ความทรงจำระยะสั้น (Short-Term Memory ย่อว่า STM)
เป็นความจำ
หลังการรับรู้สิ่งเร้าที่ได้รับการตีความจนเกิดการรับรู้แล้วก็จะอยู่ในความจำระยะสั้น
เราใช้ความจำระยะสั้นสำหรับการจำชั่วคราวเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในขณะที่จำอยู่เท่านั้น
เช่นการจำหมายเลขโทรศัพฑ์จากสมุดโทรศัพฑ์
เมื่ออ่านหมายเลขแล้วหมายเลขนั้นก็จะเข้าไปในความจำระยะสั้นของเราเพื่อให้หันมาที่เครื่องโทรศัพท์และหมุนตัวเลขเหล่านั้น
พอหมุนเสร็จเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องจำหมายเลขนั้นอีกต่อไป
ชั่วเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเราอาจจำไม่ได้อีกเลยว่าหมายเลขที่เพิ่งหมุนไปนั้นคืออะไร
เราอาจต้องอ่านหมายเลขจากสมุดโทรศัพท์อีกครั้งหากต้องการจะหมุนใหม่อีก
ในการฟังหรืออ่านประโยค เช่น “คุณประยูรชอบเล่นเทนนิส” เราต้องเก็บภาคประธานของประโยค
คือ “คุณประยูร” ไว้ในความจำระยะสั้น
คอยให้ส่วนขยายของประโยคซึ่งได้แก่ภาคกริยาและภาคกรรมตามมาครบแล้วเราจึงตีความหมายของประโยคนั้นได้ว่าคืออะไร
ถ้าหากเราไม่มีความจำระยะสั้นเพื่อการจำชั่วคราวนี้ การเข้าใจประโยคจะทำได้ยากมาก
เพราะพอฟังถึงส่วนกริยาของประโยคก็ลืมไปแล้วว่าประธานคืออะไร
ความจำระยะสั้นนี้หายสาปสูญไปได้ง่ายมากหากเรามิได้ตั้งใจจดจ่ออยู่ในสิ่งที่กำลังจำ
เช่นการจำหมายเลขโทรศัพท์ที่เพิ่งอ่านจากสมุดโทรศัพท์
ท่านคงเคยมีประสบการณ์ที่ต้องเปิดสมุดโทรศัพท์เพื่อดูหมายเลขอีกครั้ง
เพราะขณะที่เริ่มต้นหมุนนั้นมีคนเข้ามาขัดจังหวะเพียงนิดเดียว
2.1 ความจำกัดของ STM STM เป็นความจำชั่วคราวต้องเอาใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลา
มิฉะนั้นสิ่งที่อยู่ใน STM ก็จะสูญหายไป
เนื่องจากความสามารถในการเอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งต่างๆ ของคนเรามีจำกัด ในขณะหนึ่งๆ
หากมีสิ่งต่างๆ อยู่ใน STM มากเกินไป
เราย่อมไม่อาจจะเอาใจจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างทั่วถึง
และสิ่งที่ไม่ได้รับการใส่ใจนี้ก็จะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว
STM จึงมีความจำกัดในจำนวนหน่วย (chunk) ของสิ่งของที่จะเก็บรักษาไว้ ขีดจำกัด ของ STM สามารถวัดโดยหาจำนวนหน่วยของสิ่งเร้าจำนวนมากที่สุดที่สามารถบรรจุใน STM ในเวลาหนึ่งๆ จำนวนหน่วยที่จำได้นี้เรียกว่า ช่วงความจำ (Memory Span)
การหาช่วงความจำทำได้ง่ายมาก
ลองเขียนตัวเลขเรียงกันเป็นชุดๆ ตั้งแต่ชุดละ 4 ตัว ถึงชุดละ 12 ตัว เช่น
2730
85943
706294
1538796
29081357
042865129
4790386215
39428107536
541962836702
เมื่อได้ตัวเลขมาแล้ว
ให้อ่านตัวเลขในแต่ละชุดโดยเสียงเรียบๆ ทีละตัวในอัตราเร็ว ตัวละ 1 วินาที ให้ผู้รับการทดลองฟังทีละชุด
เมื่อฟังจบแต่ละชุดให้ผู้รับการทดลองว่าตามทันที
ว่าตัวเลขที่ได้ยินไปนั้นมีอะไรบ้าง โดยเริ่มต้นจากชุด 4 ตัว
หากตอบได้ถูกหมดก็ทำชุดที่มี จำนวนตัวเลขมากขึ้นอีก
จนถึงชุดที่ไม่สามารถตอบถูกได้หมด เช่น ชุดเลข 9 ตัว
เราอาจให้แก้ตัวอีกครั้งโดยอ่านตัวเลข 9 ตัวชุดใหม่ให้ฟังแล้วให้ว่าตามอีก
หากยังไม่ได้อีก ก็แสดงว่าช่วงความจำของผู้รับการทดลองผู้นี้เท่ากับ 8 ขีดจำกัดของ STM ของบุคคลนี้จึงเท่ากับ 8 หน่วยตัวเลข ช่วงความจำของคนแตกต่างกัน
บางคนก็ยาว บางคนก็สั้น แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะยาวประมาณ 7 หน่วย
บางคนอาจจำได้มากกว่านี้ บางคนได้น้อยกว่านี้ แต่ก็จะหนีไม่พ้นช่วง 7 + 2 หน่วย (Miller,
1956) ไม่ว่าสิ่งเร้าที่ใช้นั้นจะเป็นตัวเลข พยัญชนะ
พยางค์ไร้ความหมายหรือ คำมีความหมายก็ตาม
2.2 การสับสนเสียงใน STM การจำใน STM มีลักษณะเป็นการพูดทบทวนในใจ
เช่น ขณะที่กำลังกรอกตัวเลขลงบัญชี ใจต้องจดจ่ออยู่กับจำนวนตัวเลขที่จำอยู่ใน STM
การจดจ่อนี้มักอยู่ในรูปการพูดทบทวนในใจ เช่น “สาม สี่ เจ็ด ห้า จุด ห้า ศูนย์” จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่
จำอยู่ใน STM นั้นมีลักษณะเป็นเสียงพูดในใจ ดังนั้น
การสับสนเสียง (Acoustic Confusion) ใน STM จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ
เป็นความจำที่มีความคงทนถาวรกว่า
STM
เราจะไม่รู้สึกในสิ่งที่จำอยู่ใน LTM แต่เมื่อต้องการใช้หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาสะกดใจก็สามารถจะรื้อฟื้นขึ้นมาได้
ตัวอย่างการจำใน LTM ได้แก่การจำเหตุการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายชั่วโมงก่อน หลายวันก่อน หรือหลายปีก่อน ชื่อของเพื่อนสนิท
ทางไปตึกเรียนที่ตนเคยเรียนสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ภาษา ตลอดจนความรู้ต่างๆ
ที่เรียนประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยได้รับตั้งแต่จำความได้ ล้วนอยู่ใน LTM ทั้งสิ้น
3.1 LTM กับการรับรู้ การรับรู้เกิดจากการตีความสิ่งเร้าที่มาสัมผัสประสาทรับความรู้สึก
และการตีความนี้ต้องอาศัยประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ใน LTM เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ตนรู้สึกนั้น คืออะไร นอกจากประสบการณ์แล้ว
ความสนใจและความเชื่อซึ่งเป็นผลของประสบการณ์เดิมใน LTM ก็มีอิทธิพลต่อการตีความสิ่งเร้านั้นมาก
สิ่งเร้าที่คนเราประสบมากที่สุดในชีวิตประจำวันคือ
สิ่งเร้าทางภาษา การตีความสิ่งเร้าที่เป็นภาษานี้จะไม่สามารถได้ความที่ถูกต้องหากยังขาดประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการตีความ
ประสบการณ์ดังกล่าวนี้คือ การจำเสียง หรือภาพของคำได้ การรู้ความหมายของคำ
และการรู้ หลักการเรียงคำเหล่านั้นเป็นประโยค
การพูคภาษาอังกฤษให้ชาวบ้านซึ่งไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษฟัง ชาวบ้านผู้นั้นย่อมไม่สามารถที่จะตีความเสียงที่ได้ยินให้เกิดเป็นการรับรู้ว่าที่พูดมานั้นหมาย
ความว่าอย่างไร ความสนใจและความเชื่อของคนซึ่งเป็นผลของประสบการณ์เดิมใน LTM.ก็มีผลต่อการตีความรับรู้ คนที่สนใจการเมืองก็มักจะตีความสิ่งต่างๆ
ในแง่ของการเมือง คนที่มีความเชื่อในลัทธิใดลัทธิหนึ่งก็มักจะตีความสิ่งที่ตนประสบว่าสอดคล้องกับความเชื่อของตน
ส่วนสารที่ขัดกับความเชื่อของคนก็มักได้รับการบิดเบือนหรือไม่ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับรู้เลย
3.2 สิ่งที่จำใน LTM สิ่งที่จำใน LTM เป็นความหมายหรือความเข้าใจในสิ่งที่ตนได้ยิน
ได้เห็น หรือได้รู้สึกด้วยประสาทอื่นๆ
ความหมายหรือความเข้าใจนี้เป็นผลของการตีความสิ่งเร้าที่รู้สึกอยู่ใน STM ขณะที่สิ่งเร้า เช่น เสียงคำพูดของเพื่อนที่กำลังคุยด้วยยังอยู่ใน STM
สมองจะตีความเสียงคำพูดเหล่านี้ซึ่งได่ยินติดต่อกันเรื่อยๆ
คำแล้วคำเล่าจนจบประโยคหรือจบตอน
เมื่อตีความจนรับรู้ว่าที่ตนได้ยินนั้นหมายความว่าอย่างไรแล้ว
เสียงคำพูดเหล่านั้นก็จะถูกปล่อยให้สลายตัวไปจาก STM ส่วนความหมายหรือความเข้าใจที่รับรู้ได้นั้นจะคงอยู่ใน
LTM ต่อไป
หากท่านปิดหนังสือแล้วพยายามนึกทบทวนว่าในย่อหน้าที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้มีใจความอย่างไร
เป็นที่แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ท่านนึกทบทวนได้นั้นจะเป็น “ความเข้าใจ”
ของท่านเอง ใช้คำพูดของท่านเอง
และเป็นที่แน่ใจอีกว่าประโยคที่ท่านใช้อธิบายความเข้าใจของท่านจะไม่มีทางเหมือนกับประโยคที่ท่านได้อ่านในย่อหน้านี้เลย
“ความเข้าใจ” อันนี้เองที่อยู่ใน LTM
ของท่าน หาใช่ประโยคต่างๆ ที่ได้อ่านไปแล้วไม่
เนื่องจากสิ่งที่จำใน
LTM
คือความหมายหรือความเข้าใจในสิ่งที่คนรู้สึก สิ่งที่อยู่ใน LTM
จึงเป็นประดิษฐกรรมของผู้จำเอง
ประดิษฐกรรมนี้อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งเร้าจริงก็ได้ เพราะการตีความสิ่งเร้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิม
ความสนใจ และความเชื่อของแต่ละคน คง เคยมีประสบการณ์ว่า
การพูดคุยกันนั้นบางครั้งมีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น
โดยที่ผู้พูดต้องการความหมายอย่างหนึ่ง แต่ผู้ฟังตีความเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ในชีวิตประจำวันของเรามีการเข้าใจไม่ตรงกัน เกิดขึ้นเสมอ
แต่ส่วนใหญ่เรามักไม่ได้ตรวจสอบกันว่าที่ผู้ฟังพยักหน้านั้นเขาเข้าใจเหมือนกับที่เราตั้งใจหรือเปล่า
เซอร์
เฟรเดอริก บาร์ตเลตด์ (sir Frederick Bartlett) ได้วิจัยเพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่จำอยู่ใน
LTM กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่ามีความสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด
(Bartlett, 1932) โดยการเล่าเรื่องสั้นๆ
ให้ผู้รับการทดลองฟัง แล้วให้ผู้รับการทดลองเล่าเรื่องที่ตนได้ฟังนี้ซ้ำกันหลายๆ
ครั้งในระยะเวลาต่างๆ กัน ผลการวิจัยพบว่า
หากระยะเวลาระหว่างการเล่าซ้ำห่างกันพอสมควร
เรื่องที่เล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยที่การเล่าครั้งที่ 2 จะต่างจากครั้งที่ 1 และคร้งที่ 3 ต่างจากครั้งที่ 2 มีส่วนปลีกย่อยบางตอนขาดหายไป
และขณะเดียวกันก็มีส่วนปลีกย่อย บางอย่างเกินมา ถ้าหากให้เล่าในระยะเวลาติดๆ กัน
เรื่องที่เล่าจะมีรูปแบบคงที่และกะทัดรัดกว่าเรื่องเดิม
การทดลองของบาร์ตเลตค์ที่น่าสนใจมากอีกชุดหนึ่งคือ
การให้คนที่ 1
เล่าเรื่องให้คนที่ 2 ฟัง แล้วคนที่ 2 เล่าเรื่องเดียวกันนี้ แต่จากความจำของตนเองให้คนที่ 3 ฟัง ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงคนที่ 7 หรือ 8 เมื่อนำเอาเรื่องจากคนที่ 8 มาเทียบกับเรื่องของคนที่
1 จะพบความแตกต่างมากมาย และถ้าเปรียบเทียบเรื่องจากคนที่ 1
ถึงคนสุดท้ายแล้วจะพบว่า (ก) เรื่องที่เล่าถูกย่อให้สั้นลงเรื่อยๆ
และ (ข) เรื่องที่เล่ามีความกะทัดรัดมากขึ้น ตอนต่างๆ
ประสานเข้าด้วยกันอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น
ส่วนปลีกย่อยที่ไม่สัมพันธ์กับโครงเรื่องมากมักจะหล่นหายไป และมีการเพิ่มเติมส่วนปลีกย่อยอื่นเพื่อทำให้โครงเรื่องสมบูรณ์ขึ้น
ผลจากการทดลองข้างต้นนี้
ตีความได้ว่า สิ่งที่ผู้ฟังรับเข้าสู่ LTM นั้นเป็นการตีความของฅนเอง
ในกรณีการฟังเรื่องก็เป็นการตีความเนื้อเรื่องที่ได้ยินและนำส่วนต่างๆ
ของเรื่องมาสัมพันธ์กันตามความเข้าใจของตนเอง และเมื่อต้องการจะเล่าต่อให้คนอื่นฟัง
ก็จะเล่าตามที่ตนเข้าใจ เล่าตามลำดับที่ตนจัดเอาไว้ และแสดงส่วนสัมพันธ์ต่างๆ
ภายในเรื่องตามความเข้าใจของตนเอง การตีความและเล่าความต่อไปสู่คนอื่นเรื่อยๆ
แบบนี้ทำให้เรื่องเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ทำนองนี้ในชีวิตประจำวันก็มีอยู่เสมอ
เช่นการลือข่าว การซุบซิบนินทา และการเล่านิทานปรัมปรา ฯลฯ
ดังนั้นคำให้การของพยานบนศาล
โดยเฉพาะการเล่าเหตุการณ์ในอดีตของพยานจึงต้องฟังและวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง
เพราะการตกหล่นหลงลืม การบิดเบือน
และการเพิ่มเติมโดยพยานเองเป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติของความจำมนุษย์
3.3 การลืมใน LTM สิ่งเร้าที่ผ่านเข้าสู่ STM และ LTM ของคนเราย่อมทิ้งร่องรอยสิ่งเร้านั้นในความทรงจำ
ร่องรอยนี้เรียกว่า รอยความจำ (Memory Trace) รอยความจำนี้อยู่ในรูปใดยังไม่ทราบแน่ชัด
และการลืมสิ่งที่เราเคยประสบมาก่อนแล้วก็สามารถคิดได้สองทาง (Tulving &
Madigan, 1970) คือ
ก.
รอยความจำของประสบการณ์นั้นๆ ได้เลือนหายไปจากสมองโดยไม่มีทางให้รื้อฟื้นขึ้นมาอีก
เปรียบเสมือนรอยเท้าบนหาดทราย เมื่อถูกน้ำซัดขึ้นมาท่วมก็จะลบหายไปหมด
ตามแนวความคิดนี้ ความจำขึ้นอยู่กับการเหลืออยู่ของรอยความจำ (Trace
Dependent) หากไม่มี
รอยความจำก็จะไม่สามารถรื้อฟื้นความจำนั้นขึ้นมา
ข.
การลืมหาได้เกิดจากการลบหายไปของรอยความจำไม่
รอยความจำยังคงอยู่ในสมองเพียงแต่ไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาเท่านั้น
และการที่ไม่สามารถรื้อฟื้นก็เพราะการขาดสิ่งแนะที่เหมาะในการรื้อฟื้นรอยความจำ
เสมือนการทำบัตรแคตาลอคของหนังสือในห้องสมุดหาย
ทำให้ไม่สามารถค้นหนังสือเล่มที่ต้องการได้ง่ายๆ
หนังสือนี้ถึงแม้จะหาไม่พบแต่ก็มิได้หายไปไหน ยังคงอยู่ในห้องสมุดนั่นเอง
ความจำแบบนี้จึงขึ้นอยู่กับสิ่งแนะในการรื้อฟื้นนความจำ (Cue
Dependent) หาใช่รอยความจำไม่
มีหลักฐานหลายอย่างที่สนับสนุนแนวความคิดที่สองตัวอย่างในชีวิตประจำวันก็มีมาก
เช่น บางครั้งที่ไม่สามารถระลึกสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่เมื่อเห็นเข้าก็จำได้และร้อง
“อ๋อ” ทันที
บางทีเพียงแต่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปสักครู่ ใจเย็นๆ ค่อยๆ คิดใหม่ก็สามารถระลึกได้
การทราบบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการระลึกเช่น เป็นคำที่ขึ้นต้นด้วย ร
หรือเป็นคำลงท้ายด้วย สระอี หรือเป็นคำ สามพยางค์ หรือเป็นคำที่หมายความว่า มืด
จะช่วยในการระลึกคำที่คิดว่าได้ลืมไปแล้วมากทีเดียว นอกจากนี้สิ่งที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ต้องการระลึกมักจะสะกดใจให้ระลึกถึงสิ่งที่คิดว่าลืมไปแล้วได้
คงเคยมีประสบการณ์ว่าก่อนออกจากบ้านได้พยายามนึกว่าจะต้องนำอะไรติดตัวไปที่มหาวิทยาลัยบ้าง
นึกจนหมดนึกไม่ออกอีกแล้วก็เดินทางไปมหาวิทยาลัย
แต่พอพบหน้าเพื่อนที่มหาวิทยาลัยก็คิดขึ้นมาได้ว่าลืมหนังสือที่เพื่อนขอยืมไว้มาให้อีกตัวอย่างหนึ่งคือ
บุคคลที่มีอาการเรโทรเกรดแอมนีเซีย (Retrograde Amnesia) ซึ่งเป็นการลืมเหตุการณ์ต่างๆ
ในอดีต มักจะเกิดกับบุคคลที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนเช่น
หัวฟาดพื้นถนนเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ บุคคลเหล่านี้จะจำเหตุการณ์ที่เกิดก่อนอุบัติเหตุไม่
ได้เลย แต่ความจำเหตุการณ์เก่าๆ เมื่อ 5 หรือ 10 ปีก่อนจะยังคงเหมือนเดิม เรโทรเกรดแอมนีเซียรักษาให้หายได้
วิธีรักษาวิธีหนึ่งคือการหาสิ่งที่บุคคลเหล่านี้ยังจำได้ดีมาให้ประสบอีกเพื่อสะกิดให้ระลึกถึงสิ่งที่ยังระลึกไม่ได้ทีละน้อยๆไปเรื่อยๆจนสามารถฟื้นความจำขึ้นมาอีก
นอกจากนี้
การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่บางส่วนของเซรีบรัลคอร์เท็กซ์(Cerebral
Cortex) ทำให้เกิดประสบการณ์เช่นเดียวกันกับที่เคยประสบมาก่อน
แม้จะเป็นเวลาหลายสิบปีก่อน เช่นได้ยินเสียงและเห็นภาพเหตุการณ์ที่ตนกำลังหัวเราะพูดคุยกับพี่น้องขณะที่ยังเป็นเด็ก
หรือได้ยินเสียงเพลงซิมโฟนีที่ตนเคยฟังมาก่อน
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นใหม่สมจริงมาก และถ้าหยุดกระตุ้น
เหตุการณ์จากความจำเหล่านี้ก็จะหายไปทันที (penfield, 1959)
หลักฐานข้างต้นเหล่านี้ต่างแสดงว่าการลืมนั้นหาได้เกิดจากการสูญเสียรอยความจำไม่
แต่เป็นการไม่สามารถรื้อฟื้นรอยความจำนี้ต่างหาก อย่างไรก็ดี
เราก็ยังไม่สามารถจะสรุปด้วยความมั่นใจว่า รอยความจำจะอยู่อย่างถาวรใน LTM ตลอดไป รอยความจำย่อมเหมือนสสารอื่นๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตลอดเวลา
อีกทั้งรอยความจำจากประสบการณ์ใหม่ๆ ย่อมสะสมทับถมรอยความจำเก่าให้เลือนหายไปได้
ดังนั้นการลืมจึงอาจเกิดจากการเลือนหายของรอยความจำได้ด้วย
และถ้าการลืมนั้นเกิดจากการเลือนหายของรอยความจำ
การรื้อฟื้นความจำของสิ่งนั้นย่อมไม่มีทางที่จะเป็นไปได้อีก
ซิกมันด์
ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรียน ผู้ริเริ่มจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์
มีความเชื่อว่ากลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดการลืมคือ การเก็บกด (Repression) มีประสบการณ์หรือความรู้สึกนึกคิดบางอย่างที่เจ้าตัวไม่อยากจะนึกถึงอีก
เพราะนึกถึงครั้งไรทำให้เกิดความรู้สึกผิด รู้สึกวิตกกังวลหรือเป็นทุกข์
เช่นการที่หญิงสาวยอมให้ เพื่อนชายเล้าโลมด้วยความพลั้งเผลอใจ
ความคิดอยากจะทำร้ายมารดาของตน
หรือการกระทำอย่างอื่นที่คนในสังคมรวมทั้งเจ้าตัวคิดว่าเลว
ประสบการณ์เหล่านี้หากนึกขึ้นมาทีไรอาจทำให้เจ้าตัวรู้สึกผิดและรู้สึกเป็นทุกข์
จึงพยายามลืมประสบการณ์เหล่านี้โดยการพยายามหลีกเลี่ยงไม่นึกถึงประสบการณ์เหล่านี้อีก
ฟรอยด์
เชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้รับการเก็บกดจะทำให้เจ้าตัวไม่รู้สึกว่ามีประสบการณ์เหล่านี้
แต่ความจริงแล้วประสบการณ์เหล่านี้มิได้หายไปไหน ยังคงอยู่ในจิตฃองบุคคลนั้น แต่อยู่ในส่วนที่ไร้สำนึก
จิตไร้สำนึกนี้มีอิทธิพลทำให้คนแสดงพฤติกรรมอปกติได้ ดังนั้นในการรักษา
ผู้ป่วยเป็นโรคจิตโรคประสาท
จิตแพทย์ที่มีความเชื่อตามแนวจิตวิเคราะห์จะพยายามช่วยให้ผู้ป่วยรื้อฟื้นประสบการณ์ที่เป็นปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อตีความใหม่และทำความเข้าใจประสบการณ์เหล่านี้
ใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเก็บกดเป็นจิตไร้สำนึกและแสดงออกเป็นพฤติกรรมอปกติอีก (Freud,1940)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น